วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ปรมจารย์งานประณีตศิลป์






















เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 นี้ ประเทศไทย ได้สูญเสียปรมาจารย์ผู้มีฝีมือเป็นเลิศกว่าใครในแผ่นดิน ในสรรพวิชาอันอุดมด้วยประโยชน์ คือท่านอาจารย์ เยื้อน ภาณุทัต ด้วยวัยถึง เก้าสิบห้าปีเศษตลอดระยะเวลาอันยาวนานถึงห้ารัชกาล ท่านได้สั่งสมวิชาความรู้นานับประการ และได้สั่งสมผลงานทางประณีตศิลป์ ตลอดจนถ่ายทอดวิชาแก่บรรดาศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า ตราบจนวาระสุดท้ายคุณลุงของท่านคือ พระยาอัมภันตริกามาตย์ (กระจ่าง ภาณุทัต) จางวางกรมพระราชพิธีในราชสำนักและกรมสนมพลเรือนผู้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในพระพุทธเจ้าหลวง ชีวิตในปฐมวัยของท่านได้อยู่ในความอุปการะของคุณลุง จึงเป็นโอกาสให้ท่านได้ศึกษาและสังเกตจดจำจารีตประเพณีและงานศิลปกรรมในราชสำนักอันจัดเป็นงานชั้นสูงสุดท่านอาจารย์ เยื้อน ภาณุทัต ได้แสดงฝีมือในงานประณีตศิลป์และการเรือนให้ปรากฏในราชสำนักตั้งแต่อายุได้แปดขวบ จนถึงกับสมเด็จพระศรีพัชรินทร์ทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ต้องพระประสงค์ขอทอดพระเนตรตัวผู้ทำตลอดสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ท่านได้รับการไว้วางพระราชหฤทัย โปรดเกล้าให้เป็นแม่กองในงานประณีตศิลป์หลายแขนง โดยเฉพาะการปักม่านบังพระเพลิงพระเมรุมาศในการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้าหลวง งานราชาภิเษกในรัชการที่หก งานปักม่านข้างหลังที่ประทับบนพระที่นั่งจักรี ปักพระเขนยที่บนพระแท่นเศวตฉัตร และเครื่องใบตอง ที่ใช้ในงานพระราชพิธีต่างๆ จนเป็นที่เลื่องลือ และโปรดปรานของเจ้านายในรัชสมัยสมเด็จพระปกเกล้า ท่านอาจารย์ เยื้อน ได้เป็นผู้ถักตาชุนกรองทองฉลองพระองค์ครุยบรมราชาภิเษกถวายภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในราชสำนักเขมร และลาว ได้แสดงฝีมือให้ปรากฏจนเป็นที่รู้จักเรียกกันว่า คุณยายไทย ท่านได้นำความช่างประดิษฐ์ และความประณีตอันเป็นเอกลักษณ์ของสตรีไทยไม่มีชาติใดเหมือน ไปยังประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และปีนังท่านอาจารย์ เยื้อน ภาณุทัต มีอุดมการณ์อย่างแรงกล้า ที่จะทำให้ผู้หญิงไทยมีความรู้ความสามรถ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และประเทศชาติให้มากที่สุด ท่านจึงได้ตั้งโรงเรียนสตรี ภาณุทัต ขึ้นที่เสาชิงช้า ถนนบำรุงเมือง รับนักเรียนโดยไม่ต้องมีการสอบเข้า ทั้งจะศึกษาโดยเสียค่าเล่าเรียนก็ได้ ไม่เสียก็ได้ ไม่จำกัดวัยและฐานะโรงเรียนสตรี ภาณุทัต เป็นที่รู้จักกันดี ในฐานะโรงเรียนการเรือนและประณีตศิลป์ชั้นสูงของสตรียุคนั้น ลูกศิษย์หลายท่านของโรงเรียนนี้ ภายหลังเป็นผู้มีเกียรติยศชื่อเสียง ถึงระดับท่านผู้หญิงและคุณหญิงต่อมาโรงเรียนสตรี ภาณุทัต ได้ย้ายมาตั้งที่วังบูรพา แต่อาจจะเป็นความโชคร้ายของสตรีไทยในยุคต่อมา โรงเรียนสตรี ภาณุทัตจึงต้องเลิกล้มการสอนลง ด้วยอำนาจหน้าที่ของผู้เป็นใหญ่บางท่าน ในกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้นแต่ความรู้ความสามารถอันเป็นเอกของท่าน ก็มิได้ถูกปิดกั้นไปด้วย ท่านได้ถูกเชิญไปสอนตามโรงเรียนต่างๆอีกหลายแห่ง เช่น รร. สตรีวิทยา รร. สายปํญญา รร. การช่างเสาวภา รร. เพรชบุรีวิทยาลงกรณ์ วิทยาลัยครูสวนดุสิตและยังได้รับเชิญจากสภาวัฒนธรรมหญิงให้เป็นกรรมการในงานประกวดงานฝีมือต่างๆ ต่อมาอีกหลายยุคหลายสมัยอาจกล่าวได้ว่าวิชาการประณีตศิลป์ในปัจุบันสมัยนี้ ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากปรมาจารย์ท่านนี้ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่มีศิษย์หรืออาจารย์ท่านใดเลยที่จะแหวกวงล้อมพ้นไปจากความรู้ อันกว้างขวางของท่านได้ ดังจะได้เห็นจากตำราการสอนของอาจารย์ การช่างและการเรือนโดยทั่วไป ที่กรมวิชาการได้บรรจุจัดพิมพ์ไว้ในหลักสูตร ต้นแบบการทำใบตอง ดอกไม้ และบายศรี ตลอตจนการแกะของสด และผักผลไม้ในยุคปัจจุบัน ล้วนมาจากสกุลช่างของท่านอาจารย์ เยื้อน ภาณุทัต ทั้งสิ้นท่านอาจารย์ เยื้อน ภาณุทัต ได้แสดงฝีมือในการแกะสลักผลไม้ ตั้งเครื่องเสวย เมื่อครั้ง สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบทที่สอง แห่งอังกฤษเสด็จเยือนประเทศไทย และได้เสด็จเมืองโบราญบางปู ทรงมีรับสั่งว่า “ทำด้วยมือหรือนี่”ตลอดชีวิตท่าน ท่านเป็นผู้ให้ และเป็นผู้เสียสละตลอด เต็มไปด้วยความหนักแน่น อดทน มักน้อย ต่อสู้เพื่อสังคม และเกียรติของสตรี ยึดมั่นในบวรพุทธศาสนา เป็นปูชนียบุคคล ที่ควรแก่การบูชา แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ประเทศไทยเรา ที่ได้สูญเสียทรัพยากรบุคคลอันประเสริฐ ผู้ไม่เคยต้องการ เครื่องหมายเชิดชูยกย่อง หรือคำสดุดีจากสถาบันใด ท่านได้กล่าวไว้ในบั้นปลายชีวิตของท่านว่า“วิชาความรู้ที่อิฉันสอนนั้น เป็นเพียงส่วนน้อย ที่มีผู้รับถ่ายทอดไป ยังจะต้องนำติดตัวตาย ตามอิฉันไปอีกเป็นอันมาก”(จากหนังสือพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์ เยื้อน ภาณุทัต ผู้ให้คำแนะนำ อันอุดมด้วยประโยชน์

1 ความคิดเห็น:

  1. อาจารย์สอนแกะสลักของดิฉันเป็นลูกศิษย์อาจารย์เยื้อนค่ะ

    ตอบลบ